ประกาศแสดงความผูกพันเชิงนโยบายระดับองค์กร
กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)
บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อระบุ ป้องกัน บรรเทา และพิจารณาวิธีการจัดการกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นตลอดกิจกรรมทางธุรกิจ โดยอ้างอิงหลักการชี้แนะของ UN Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่
-
- การประกาศนโยบายและหลักการของบริษัทฯ ว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน: บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ครอบคลุมถึงการต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติและการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกัน ความเท่าเทียมด้านค่าตอบแทน และด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
สามารถศึกษาประกาศแสดงความผูกพันเชิงนโยบายระดับองค์กรเพิ่มเติมได้ที่ >> ประกาศแสดงความผูกพันเชิงนโยบายระดับองค์กรเพื่อบรรลุถึงความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน <<
- การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรือมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของบริษัทฯ: บริษัทฯ ได้ทำการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงและอาจเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมหรือมีความเชื่อมโยงผ่านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยพิจารณากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
- การบูรณาการนโยบายกับการประเมิน รวมถึงกลไกการควบคุมภายในและภายนอก: บริษัทฯ ดำเนินการประเมินระดับความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน โดยใช้เกณฑ์ความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจัดลำดับความเสี่ยงและวางแนวทาง/มาตรการลดผลกระทบที่เหมาะสม
- การติดตามและการรายงานผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน: บริษัทฯ ตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงาน ทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน และมาตรการบรรเทาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ และมีการสื่อสารให้ความรู้และอบรมพนักงานครอบคลุมในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
- การแก้ไขให้ถูกต้องและเยียวยา: บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น โดยมีการประเมินความเสี่ยงเป็นประจำทุกปี เพื่อระบุสถานการณ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงมีการกำหนดมาตรการ การบรรเทาผลกระทบ และการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> เอกสารกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน <<
จากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2566 ไม่พบว่ากลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล มีความเสี่ยงในเรื่องสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่คุณค่า และจากการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ไม่พบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมการต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก การเลือกปฏิบัติและการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกัน ความเท่าเทียมด้านค่าตอบแทน และสิทธิอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบการเงินและไม่ใช่การเงิน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีมาตรการลงโทษสำหรับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนี้
- การตักเตือนด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร
- ลดค่าจ้างหรือตำแหน่งงาน
- การให้พักงาน
- ตัดหรือระงับการจ่ายเงินรางวัลประจำปี
- การพิจารณาไม่ปรับค่าจ้าง
- การให้ออก
- การไล่ออก
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส หากพบเห็นการกระทำที่สงสัยว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณธุรกิจ สามารถแจ้งได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
- อีเมล: VIH.whistleblower@vichaivej.com
- ไปรษณีย์: หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายใน โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย เลขที่ 74/5 หมู่ที่ 4 ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 74130
ในกรณีผู้ร้องเรียนมีข้อร้องเรียนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังประธานกรรมการตรวจสอบโดยตรงผ่านช่องทางอีเมล audit.chairman@vichaivej.com หรือทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ข้างต้น