"บุหรี่" หรือ "ยาสูบ" เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลก ต้องเจ็บป่วยร้ายแรงทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ภาวะติดบุหรี่ เป็น "โรคเรื้อรัง" ซึ่งไม่แตกต่างจากโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนบ่งชี้ว่าการสูบบุหรี่เป็นการเสพติดอย่างแท้จริง ผู้เสพมักเลิกสูบได้เพียงระยะหนึ่ง แล้วจะกลับมาสูบใหม่
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกล่าสุดพบว่า แต่ละปี ทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงกว่า 5 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 รายในทุกๆ 8 วินาที ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาถึง 70 %โดยคาดการณ์ว่าหากอัตราการสูบบุหรี่ยังคงสูงอยู่ต่อไป ในอีก 20 ปี ข้างหน้าจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปี
ด้วยเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่คณะกรรมการดำเนินการโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส องค์การเภสัชกรรม กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดงานเปิดตัวโครงการ "เครือข่ายคลินิกฟ้าใส" ขึ้นไปเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นโครงการความร่วมมือของหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบรักษาสุขภาพให้กับผู้ติดบุหรี่ในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการให้บริการเลิกบุหรี่เชิงรุก ที่ได้มาตรฐานสากล และเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลทุกระดับและชุมชนทั่วประเทศเพื่อเป็นต้นแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการเลิกบุหรี่ โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูลระดับชาติ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ในการเลิกบุหรี่ และการรักษาโรคติดบุหรี่อย่างยั่งยืน
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบแต่เรายังพบว่ามีคนไทยที่สูบบุหรี่เป็นประจำเกือบ 12 ล้านคน และอย่างน้อย 1 ใน 4 ของคนเหล่านี้จะต้องเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีผลตามมาจากผู้ป่วยเนื่องจากสูบบุหรี่ เป็นมูลค่ามหาศาลต่อปีซึ่งในประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 40,000 -50,000 ล้านบาทต่อปีนอกจากนั้นยังมีผลต่อการสูญเสียโอกาสของบุคคลและครอบครัวอีกมากมายหลายเท่าซึ่งเป็นการสูญเสียที่สูงยิ่งสำหรับประเทศไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านสุขภาพแบบบูรณาการ ในการจัดการปัญหาโรคติดบุหรี่ที่มีอยู่มากมายอย่างจริงจัง
ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ บอกว่า โครงการนี้จะจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 ปี (2553-2555)โดยจัดให้มีการอบรมบุคลากรของโรงพยาบาลและคลินิกเลิกบุหรี่ทั่วประเทศประเมินสถานการณ์ เก็บข้อมูล แนะนำช่วยเหลือและแสวงหาแนวร่วมที่ดีที่สุดในสังคมไทย ให้มีบริการเลิกบุหรี่ที่ได้มาตรฐานให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพโดยตั้งเป้าหมายเพื่อลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ ลงไม่น้อยกว่า 10% ทั่วประเทศเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ
โครงการ "เครือข่ายคลินิกฟ้าใส" ได้ผลักดันให้ประชาชนเลิกบุหรี่แบบบูรณาการที่มีรูปแบบแตกต่างจากที่เคยมีมาและมีการดำเนินการร่วมกันโดยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัดและนักจิตวิทยา โดยคลินิกนี้มีลักษณะเฉพาะดำเนินงานเป็นอิสระ และมีลักษณะเป็น one-stop service เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ป่วย และเป็นแรงจูงใจในการเข้ารับบริการต่อไป