หัวไหล่ คือข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย เพราะฉะนั้นหากเกิดอาการปวด ก็จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราลำบากมาก
“อาการปวดไหล่” ถือเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากปวดมาก ปวดเรื้อรัง ไหล่บวม หรือขยับไหล่ เคลื่อนไหวไหล่ลำบาก คุณอาจเป็นโรคข้อไหล่ได้ครับ ผศ.ดร.นพ.บวรรัฐ วนดุรงค์วรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประจำศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคข้อไหล่ไว้ว่า
โรคข้อไหล่ที่พบบ่อย จะมีด้วยกัน 3 ภาวะ
ภาวะแรก จะเป็นเรื่องของ เอ็นข้อไหล่อักเสบหรือเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด
ภาวะที่สอง จะเป็นเรื่องของข้อไหล่ติด
และก็ภาวะที่สาม จะเป็นเรื่องของข้อไหล่เสื่อม
ซึ่งสามภาวะนี้ จะพบอาการคล้าย ๆ กัน คือจะมีอาการเจ็บที่บริเวณข้อไหล่ ส่วนใหญ่อาการเจ็บ อาการปวด จะเป็นตอนที่มีกิจกรรม อีกหนึ่งอาการที่เด่นมาก คือจะมีอาการเจ็บ หรือปวดตอนกลางคืน จนทนไม่ไหว ต้องตื่นนอนขึ้นมา
อย่างในภาวะแรก คือ เอ็นข้อไหล่อักเสบ หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด อาจมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการอับเสบหรือฉีกขาดของเส้นเอ็น หรืออาจจะเกิดจากการใช้ข้อไหล่มากเกินไป หรือใช้อย่างไม่เหมาะสม หรืออาจะเกิดจากการเสื่อมโดยธรรมชาติของเส้นเอ็น ในกรณีผู้สูงอายุ ก็อาจจะทำให้เกิดการอักเสบ หรือเป็นมากขึ้นก็ถึงขั้นฉีกขาดได้
ภาวะที่สอง ข้อไหล่ติด จุดสังเกตง่าย ๆ คือ การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง หรือทำได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม เช่น ในผู้หญิงก็จะเอื้อมไปติดขอเสื้อในลำบาก หรือถ้าเป็นผู้ชาย ก็จะเอาเสื้อเข้ากางเกงทางด้านหลังลำบาก
ภาวะสุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของข้อไหล่เสื่อม เราจะรู้สึกว่าข้อไหล่ไม่มีแรง วิธีสังเกตง่าย ๆ อย่างเวลาถือของ จะรู้สึกว่าแขนจะล้า ถือได้น้อยลง เมื่อก่อนอาจถือของได้หลายกิโล แต่เดี๋ยวนี้ถือนิดหน่อยก็ไม่ไหวแล้ว แบบนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อไหล่เสื่อมได้ครับ
ลักษณะข้างต้น จะเป็นอาการที่สามารถพบได้ในสามกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับข้อไหล่ ซึ่งส่วนใหญ่
การวินิจฉัยจำเป็นต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ อาจจะต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น เอ็กซ์เรย์ หรือการ ตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์แบบ MRI เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่มาก ไหล่ไม่มีแรง เคลื่อนไหวไหล่ลำบาก หรือมีอาการข้อไหล่ติด ควรต้องมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคครับ
การรักษาโรคข้อไหล่ มีแบบไหนบ้าง?
การรักษาโรคทางข้อไหล่ โดยทั่วไปก็แบ่งเป็น 2 วิธีด้วยกันนะครับ
วิธีแรก คือ การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
วิธีที่สอง จะเป็นเรื่องของการผ่าตัด
สำหรับวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด จะเป็นเรื่องของการให้ยาและการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจุดประสงค์ คือลดอาการปวด และการเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ให้มากขึ้น
กรณีที่เราทำการรักษาวิธีแรก ไม่ได้ผล ก็จะเข้าสู่การรักษาในวิธีที่สอง จะเป็นเรื่องของการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัด ปัจจุบันจะมีทั้ง
-การผ่าตัดผ่านกล้อง
-การผ่าตัดแบบแผลเปิด
การเลือกการรักษาในรูปแบบการผ่าตัดวิธีไหน จะขึ้นอยู่กับโรคที่คนไข้เป็น ซึ่งจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป สำหรับการส่องกล้อง โดยทั่วไป จะทำในกรณีที่มีเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ข้อไหล่ติด เราสามารถทำผ่าตัดผ่านกล้องได้ แผลเล็ก เจ็บน้อย
ส่วนวิธีการผ่าตัดแบบมีแผลเปิด การผ่าตัดลักษณะนี้ จะทำในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการข้อไหล่เสื่อมมาก ๆ จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่
เพราะฉะนั้นอยากให้สังเกตอาการปวดไหล่ที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์นะครับ
1. มีข้อไหล่บวม หรือ มีอาการปวดร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่ นานกว่า 2 สัปดาห์ ยิ่งถ้ามีไข้และปวดไหล่บวมด้วยแล้วต้องรีบมาพบแพทย์เพราะอาจเป็นการติดเชื้อในข้อไหล่ได้
2. มีอาการชาของแขน หรือมีอาการเย็น หรือเปลี่ยนสีของผิวหนังบริเวณแขนร่วมด้วย
3. แขนและไหล่อ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น
"เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้ ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายากนะครับ"