หัวใจโต (Cardiomegaly) ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนากว่าปกติ ทั่วไปจะเรียกว่า ภาวะหัวใจโต เพราะขนาดของหัวใจทุกคนจะมีขนาดเท่ากับกำปั้น หัวใจโตสาเหตุเกิดได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่มาจาก ความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ และสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่องได้
ใครบ้างที่เสี่ยงหัวใจโต
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ , โรคหัวใจเต้นผิดปกติ, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด,โรคลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่มีอาการของโรคอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไป หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีน
ภาวะหัวใจโต มีอาการอย่างไร?
ภาวะหัวใจโตในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือกรณีที่เป็นภาวะหัวใจโต จากโรคอื่น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ หรือลิ้นหัวใจตีบ หัวใจรั่ว อาการที่เจอก็อาจมีเหนื่อยหอบผิดปกติ เพราะฉะนั้นอาการของภาวะหัวใจโตมักจะขึ้นกับโรคที่เป็น แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอก็อาจทำให้มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- หายใจเร็ว
- เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
- ใจสั่น
- ไอเวลานอน
- บวมบริเวณเท้าตอนสาย ๆ
วิธีการรักษาภาวะหัวใจโต
เบื้องต้นต้องหาสาเหตุของโรคก่อน โดยคุณหมอจะทำการรักษาตามสาเหตุและอาการ ซึ่งรูปแบบการรักษา มีทั้งการใช้ยารักษาตามโรคที่พบ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือถ้าโรคหัวใจโต จากลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว อาจจะต้องรักษาด้วยยา หรือการรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไข ถ้ามีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งหลอดเลือดหัวใจโต กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษาก็อาจจะกินยารักษาโรคหัวใจตีบ หรือต้องไปฉีดสีที่ศูนย์หัวใจ ทำบอลลูน หรือผ่าตัดแก้ไข ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น
การตรวจหาเพื่อหาสาเหตุของโรค คุณหมออาจจะให้การเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือวินิจฉัยด้วยการการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ส่วนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) ช่วยให้เห็นห้องหัวใจและสามารถวัดขนาดได้ว่าโต หรือไม่ การตรวจชนิดนี้ช่วยให้เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจ ลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจ และความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ