CALL: 1792

บทความเพื่อสุขภาพ

ข้อเข่าเสื่อม!!

22/10/2562

 

 ข้อเข่าเสื่อม

 

          ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในคลินิกทางระบบกระดูกเอ็นและข้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดที่ข้อเข่า ข้อเข่าบวม อักเสบ การเคลื่อนไหวติดขัด มีเสียงดังผิดปรกติขณะเคลื่อนไหวข้อ ในผู้ป่วยที่มีอาการมากอาจพบความผิดรูปของข้อ ข้อเข่าอาจโก่งเข้าในหรือโก่งออกนอก ผู้ป่วยอาจไม่สามารถใช้ข้อเข่าได้ตามปรกติ พบมีอาการเจ็บปวดเมื่อเดินขึ้นหรือเดินลงบันใดมากกว่าเดินบนทางราบ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบวมและอักเสบเมื่อใช้งานมากขึ้นเช่น มีอาการมากหลังต้องเดินมาก หรือนั่งในรถยนตร์ในท่าข้อเข่างอเป็นเวลานานๆ ในผู้ป่วยที่ใช้ข้อเข่าอย่างไม่ถูกต้องเช่นการนั่งกับพื้นเป็นเวลานาน การกระโดดจากที่สูงและการกระโดดแล้วย่อข้อเข่าและการนั่งยองๆ หรือการได้รับการบาดเจ็บของข้อเข่าจนทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นหรือกระดูกอ่อนในข้อเข่าที่รุนแรง ซึ่งพบบ่อยจากการเล่นกีฬาและอุบัติเหตุ อาจทำให้ข้อเข่าเกิดการเสื่อมได้เร็วกว่าที่ควร นอกจากนี้โรคของข้อที่ทำให้ข้ออักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อของข้อเข่าและโรคในระบบต่อมไร้ท่อ เช่นโรคเบาหวาน พบว่าทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ป่วยอายุน้อยและมีอาการรุนแรงกว่าโรคข้อเสื่อมตามวัย ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อมหลายๆข้อโดยเฉพาะข้อนิ้วอันปลาย พบว่าผู้ป่วยมีอาการข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมทั่วไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบบุคคลในครอบครัวเดียวกันมีข้อเสื่อมที่รุนแรงได้บ่อยกว่าอุบัติการณ์ในประชากรทั่วไป เชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม

                ข้อเข่าที่เสื่อมมีการเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของข้อ กระดูกอ่อนเกิดการสึกกร่อนและถูกทำลาย ไปทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ไม่ดี กระดูกบริเวณข้อต้องรับแรงกระทำผ่านข้อมากขึ้น เนื่องจากกระดูกอ่อนที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเคยช่วยลดแรงกระทำผ่านข้อสึกกร่อนไปหมด กระดูกจึงเกิดการหนาตัวขึ้น พบว่ากระดูกบางบริเวณเกิดการแตกเป็นร่อง เอ็นที่หุ้มข้อพบว่าเกิดการหย่อนจากการที่ข้อหลวม เอ็นอาจเกิดการฉีกขาด เยื่อบุภายในข้อที่ทำหน้าที่สร้างของเหลวสำหรับหล่อลื่นข้อเกิดการอักเสบ บวมและหนาตัวขึ้น ของเหลวที่เยื่อบุภายในข้อสร้างขึ้นมีคุณสมบัติไม่ดี ทำให้การหล่อเลื่อนไม่ดี กลับทำให้เกิดการสึกหรอและเป็นวัฏจักรการทำลายข้อต่อไป

หากผู้ป่วยมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมควรได้รับการรักษาจากแพทย์ให้ถูกต้อง การรักษาที่สำคัญได้แก่

1. การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้แก่การใช้ความเย็นและความร้อนในลักษณะต่างๆตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย การบริหารร่างกายและกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง การใช้เครื่องรัดดัดพยุงที่เหมาะสม การใช้เครื่องช่วยการเดิน เช่น การใช้ไม้เท้า การใช้อุปกรณ์ช่วยในการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน รวมทั้งการปรับการใช้ข้อเข่าให้ถูกต้องในการใช้งานลักษณะต่างๆ

2. การรักษาทางยาเพื่อควบคุมอาการ ได้แก่การใช้ยาลดอาการอักเสบและควบคุมอาการปวด โดยทั่วไปควรเริ่มจากการใช้ยาที่ปลอดภัยและใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านอยู่แล้วก่อนเช่น ยาพาราเซตามอล หากไม่ทุเลาควรปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนอาจต้องระวังการใช้ยา เนื่องจากอาการปวดและอักเสบอาจเกิดจากโรคอื่นที่ไม่ใช้ข้อเข่าเสื่อมเพียงอย่างเดียว เช่นผู้ป่วยอาจเป็นโรคเก๊าท์ด้วย ซึ่งต้องให้การรักษาไปด้วยกัน ผู้ป่วยที่มีโรคไตและโรคตับอาจไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้ นอกจากนี้ยารักษาโรคเดิมอาจเกิดปฏิกิริยาต่อยาที่ใช้รักษาอาการปวดและอาการอักเสบ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์รู้ถึงโรคและยาที่ใช้เป็นประจำ ยารักษาอาการอักเสบและอาการปวดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาและอาจทำให้ภาวะแทรกซ้อนในทางเดินอาหารทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง เกิดมีแผลในกระเพาะอาหารและมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ภาวะแทรกซ้อนอีกประการที่พบบ่อยคือการรบกวนการทำงานของไต ผู้ป่วยมีอาการบวมน้ำ และสุดท้ายที่พบได้บ่อยคืออาการแพ้แสงแดด ผู้ป่วยมีผิวหนังอักเสบเมื่อได้รับแสง ปัจจุบันมีพัฒนาการเกี่ยวกับยากลุ่มนี้อย่างรวดเร็ว มียาตัวใหม่ๆที่มีฤทธิ์ดีแต่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่ายารุ่นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรบกวนกระเพาะอาหารน้อย สามารถใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกระเพาะอาหารได้ แต่ราคายากลุ่มนี้มีราคาสูงกว่ายากลุ่มเดิม การให้ยาจึงต้องพิจารณาเป็นรายๆตามความเหมาะสม

3.   การใช้ยาเพื่อควบคุมโรค เพื่อลดความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมของข้อเข่า ในผู้ป่วยที่ข้อยังไม่เสียหายมากนัก หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง จึงมีการใช้ยาในกลุ่มนี้ ยาที่มีในประเทศได้แก่ยาที่ช่วยทำให้เซลกระดูกอ่อนทำงานได้ดีขึ้น ลดอัตราตายของเซลเหล่านี้ ยาอีกลุ่มลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการทำลายเซลกระดูกอ่อนและสารกลุ่มสุดท้ายช่วยส่งเสริมและคงสภาพการหล่อลื่นภายในข้อ ลดการทำลายกระดูกอ่อนจากการเสียดสี การใช้ยาขึ้นกับอาการและระยะของโรค โดยแพทย์พิจารณาให้แก่ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่เหมาะสมต่อยา

          การผ่าตัดรักษาเป็นวิธีสุดท้ายหากผู้ป่วยยังไม่ทุเลาจากการรักษาในข้อที่ 1-3 การผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นกับพยาธิสภาพของข้อ ในรายที่มีอาการข้อติดขัดและตรวจพบกระดูกอ่อนในข้อขาดหรือมีเศษกระดูกและกระดูกอ่อนขัดขวางในข้อ โดยที่กระดูกอ่อนส่วนใหญ่ยังดีอยู่ นิยมทำผ่าตัดส่องกล้องตรวจและรักษาเข้าไปในข้อ โดยเจาะที่ผิวหนังเป็นแผลเล็กๆประมาณครึ่งเซนติเมตร ในผู้ป่วยที่มีความพิการผิดรูป ข้อเข่าโก่งมาก อาจให้การรักษาโดยการผ่าตัดจัดให้ข้ออยู่ในแนวที่ดีขึ้นเพื่อชะลอความเสื่อมของข้อเข่า แต่ถ้าข้อเสื่อมเสียหายมากและมีความผิดรูปมากนิยมให้การรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเป็นข้อเทียม เพื่อลดความปวดและทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อได้ดีขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ ไวคกุล พ.บ., ว.ว. ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แพ็คเกจแนะนำ

แพ็คเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

เปลี่ยน "ข้อเสีย" เป็น "ข้อดี"...

ราคา 185,000 บาท

บทความแนะนำ

16/10/2567

ลมและแดดจ้า ทำลายดวงตากว่าที่คิด ระวัง!! ต้อลม

แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล... รู้สึกไม่สบายตา โดยเฉพาะเมื่อเจอลมแรงๆ หรือแสงแดดจ้า ตาแดงก่ำ คันยุบยิบ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางครั้งมีขี้ตาเยอะผิดปกต...

16/10/2567

ต้อหิน ไม่เข้าใจ ไม่ระวัง อาจมองไม่เห็นตลอดชีวิต

         "ต้อหิน" ภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำลายเส้นประสาทตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ท...

รายชื่อแพทย์ในศูนย์บริการนี้