เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนของลูกน้อย
พญ.นัทยา ก้องเกียรติกมล
วัคซีนคืออะไร
วัคซีนทำหน้าที่เสมือนเป็นสิ่งกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู้กับเชื้อโรคบางชนิด สามารถช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคนั้นๆ การให้วัคซีนเป็นเพียงทางหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ควรดูแลให้ทารกได้รับนมแม่นานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป, การไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย, รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ จะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้เด็กแข็งแรงได้ โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในวัยทารกและเด็กเล็กมีดังนี้
วัณโรค ทารกแรกคลอดทุกคนจะได้รับการปลูกฝีป้องกันวัณโรคที่ไหล่ ทำให้เกิดรอยแดงเล็กๆ หรือตุ่มหนองที่สังเกตเห็นได้ที่อายุ 1-2 เดือน ต่อมาจะยุบลงเองและกลายเป็นแผลเป็นเล็กๆ แสดงว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อวัณโรคชนิดรุนแรงและแพร่กระจายได้ ถึงแม้จะได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนนี้แล้วหากมีผู้ใหญ่ในบ้านป่วยเป็นวัณโรค เด็กจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคและรับยาป้องกันทุกคน
ตับอักเสบบี เป็นโรคตับอักเสบชนิดที่ติดต่อจากแม่ที่เป็นพาหะสู่ลูก หรือได้รับเลือดหรือมีบาดแผลปนเปื้อนเลือดของผู้ที่เป็นพาหะ วัคซีนนี้ทารกจะได้รับตอนแรกคลอดและกระตุ้นที่อายุ 2 และ 6 เดือน สำหรับคุณแม่ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะตับอักเสบบี ลูกจะต้องรับการป้องกันเร็วขั้นที่อายุ 1 เดือนและตรวจติดตามว่าไม่ติดเชื้อจากแม่ด้วย
คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เด็กทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนรวม 4 โรคนี้และกระตุ้นเป็นระยะ เพื่อป้องกันโรคบาดทะยักที่ติดต่อได้เวลามีบาดแผล และป้องกันคอตีบไอกรนที่แพร่เชื้อทางการได้รับฝอยละอองที่คนป่วยไอจามออกมาในที่ชุมชน วัคซีนนี้หากเลือกรับแบบผลข้างเคียงต่ำจะมีข้อดีคือโอกาสมีไข้น้อยมากๆ ต่างจากวัคซีนฟรีที่เด็กจะมีไข้ได้หลังฉีด
โปลิโอ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำ ทำให้มีอาการของเส้นประสาทอักเสบและพิการได้ ปัจจุบันมีวัคซีนฟรีในรูปยาหยอดและฉีดเพิ่มต่างหาก 1 เข็มที่อายุ 4 เดือน ส่วนในวัคซีนชนิดผลข้างเคียงต่ำจะมีในรูปยาฉีดรวม 4-6 โรคในเข็มเดียวกับคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก
เยี่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม ได้เหมือนเชื้อหวัด ทำให้เกิดปอดบวมและติดเชื้อขึ้นเยื่อสมองและเข้ากระแสเลือดได้
ท้องเสียจากไวรัสโรต้า มีอาการไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ลำไส้อักเสบ ถ้ารุนแรงจะมีภาวะขาดน้ำ ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทดแทน ยังไม่มีการรักษาฆ่าเชื้อได้โดยตรง หากได้รับวัคซีนจะลดความรุนแรงของโรคได้ ใช้หยอดเข้าทางปาก มีชนิดหยอด 2 และ 3 ครั้ง เป็นวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กเริ่มให้ที่อายุ 2-4 เดือน
โรคติดเชื้อไอพีดี เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางลมหายใจและทำให้เกิดคออักเสบ หูน้ำหนวก ปอดบวมและติดเชื้อขึ้นเยื่อสมองและเข้ากระแสเลือดได้ ในรายที่ติดเชื้อขึ้นเยื่อหุ้มสมองและเข้ากระแสเลือดจะมีความรุนแรงทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ เป็นวัคซีนที่แนะนำในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ สามารถฉีดเสริมได้ในทุกอายุเพื่อป้องกันโรคกลุ่มนี้
หัด หัดเยอรมัน คางทูม เป็นเชื้อกลุ่มไวรัสที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน หัดและหัดเยอรมันเป็นไข้ออกผื่นและอาจรุนแรงได้ในเด็กเล็ก และยังแนะนำในหญิงก่อนตั้งครรภ์เพื่อป้องกันติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ซี่งทารกจะพิการได้
ไข้สมองอักเสบเจอี เชื้อนี้มากับยุงที่ไปกัดสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ได้แก่ หมู วัว ม้า และควาย และมากัดคนทำให้เกิดอาการไข้สูง ปวดหัว ซึม ชัก ติดเชื้อในเนื้อสมองรุนแรงทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิต
อีสุกอีใส ติดต่อทางลมหายใจทำให้เป็นไข้ออกตุ่ม และถ้ารุนแรงจะมีปอดบวมและสมองอักเสบได้ การป้องกันใช้วัคซีน 2 ครั้งคือเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป และกระตุ้นที่อายุ 2 ปีครึ่งถึง 4 ปี (รวมเป็น 2 ครั้ง) จะป้องกันโรคอีสุกอีใสและงูสวัดได้ตลอดชีวิต
ตับอักเสบเอ เป็นไวรัสที่มากับอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ทำให้เกิดไข้ ตัวตาเหลือง ตับอักเสบรุนแรงได้ ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็ม หรือ เชื้อเป็น เพียง 1 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต
นอกเหนือจากนี้ยังมีวัคซีนที่ป้องกันโรคตามฤดูกาลคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปและในผู้ใหญ่ทุกวัยถึงวัยสูงอายุ เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ปีละครั้ง รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคในเด็กโตและผู้ใหญ่เช่น วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ป้องกันไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เริ่มฉีดในเด็กหญิงอายุ 9 ปีขึ้นไป สอบถามรายละเอียดได้จากกุมารแพทย์เพิ่มเติมได้ค่ะ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการให้วัคซีน
การฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรงหรือบางส่วนของเชื้อ ดังนั้นหลังการได้รับวัคซีน ร่างกายของเด็กอาจมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนได้ดังนี้
© ตุ่มหนอง มักเกิดจากวัคซีนป้องกันวัณโรคที่ได้รับเมื่อแรกเกิด พบได้หลังฉีด 2-3 สัปดาห์ เป็นๆยุบๆ และหายไปเองในที่สุด
© ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน และเด็กอาจร้องกวน งอแงได้ ถ้ามีอาการมาก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ และทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล
© ไข้ตัวร้อน มักเกิดในวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ให้เช็ดตัวลดไข้และทานยาลดไข้ ในเด็กที่มีไข้สูงจากการฉีดครั้งก่อน หรือเป็นโรคซึ่งเสี่ยงต่อการชัก ควรให้ยาลดไข้ทันทีหลังฉีด 1-2 ชั่วโมง หรือเลือกใช้วัคซีนไอกรนชนิดผลข้างเคียงต่ำ
© ชัก เกิดได้กรณีไข้สูงมาก ๆ ให้เช็ดตัวลดไข้ ไม่ควรสอดอะไรเข้าปาก ให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันสำลักและติดต่อขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
© ไอ น้ำมูก ผื่น พบได้หลังฉีดวัคซีนหัด หัดเยอรมัน ไปแล้ว 1 สัปดาห์โดยประมาณ หายได้เอง
แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล... รู้สึกไม่สบายตา โดยเฉพาะเมื่อเจอลมแรงๆ หรือแสงแดดจ้า ตาแดงก่ำ คันยุบยิบ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางครั้งมีขี้ตาเยอะผิดปกต...
"ต้อหิน" ภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำลายเส้นประสาทตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ท...