CALL: 1792

บทความเพื่อสุขภาพ

การตรวจความหนาแน่นของกระดูก

09/10/2562

 การตรวจความหนาแน่นของกระดูก

 

          คุณหมอดิฉันไปตรวจกระดูกมาที่งาน....ผลการตรวจพบว่ากระดูกบาง ดิฉันจะพิการไหม

          คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมมักได้รับเมื่อออกตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก รวมทั้งเมื่อพบปะกับท่านผู้มีเกียรติ์ที่มาในงานวันโรคข้อ ของมูลนิธิโรคข้อฯ แต่เมื่อถามผู้ป่วยหรือท่านผู้มีเกียรติ์เหล่านั้นกลับไปว่าคุณมีอาการผิดปกติอย่างไรหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ และเมื่อถามต่อว่าความหนาแน่นของกระดูกที่ตรวจได้นั้นคืออะไร ผู้ป่วยและผู้มีเกียรติ์เกือบทั้งหมดไม่ทราบว่าการตรวจความหนาแน่นของกระดูกนั้นจำเป็นแค่ไหนและมีประโยชน์อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของความสำคัญในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก

 

          กระดูกเป็นเนื้อเยื่อในร่างกายที่มีผลึกเกลือแคลเซี่ยมเกาะอยู่กับเส้นใยคอลลาเจนและโปรทีนหลายชนิดที่ทำให้กระดูกแข็งแรง กระดูกสามารถรับนำหนักร่างกาย เป็นแกนการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆในร่างกาย และปกป้องอวัยวะสำคัญของร่างกาย ดังเช่นกะโหลกศรีษะปกป้องสมอง และกระดูกเชิงกรานปกป้องอวัยวะในท้องส่วนล่าง ความแข็งแรงของกระดูกขึ้นกับปริมาณผลึกเกลือแคลเซี่ยม ปริมาณและคุณภาพของเส้นใยคอลลาเจนและโปรทีนในกระดูก รวมทั้งลักษณะการเรียงตัวของหน่วยกระดูกในทิศทางต่างๆที่เหมาะสมกับแรงที่มากระทำต่อกระดูก ทั้งจากน้ำหนักของร่างกาย การเคลื่อนไหวและการหดตัวของกล้ามเนื้อ ในกระดูกมีการทำลายส่วนที่เสียหายจากการใช้งานและส่วนที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานและมีการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นทดแทนอยู่ตลอดเวลา หากปริมาณการสร้างสัมพันธ์กับการทำลาย กระดูกก็สามารถรักษารูปทรงและความแข็งแรงไว้ได้ แต่หากการสร้างมีขึ้นน้อยกว่าการทำลาย กระดูกก็จะอ่อนแอลง

 

         ในทางปฏิบัติแพทย์ไม่สามารถวัดความแข็งแรงของกระดูกที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ได้โดยตรง จึงต้องวัดโดยอ้อม ซึ่งขบวนการประเมินความแข็งแรงของกระดูกเริ่มจากการตรวจร่างกายและถ่ายภาพรังสีธรรมดาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเฉพาะบริเวณนั้นๆ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจทำการตรวจเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วยด้วยเพื่อประเมินอัตราการสร้างและการทำลายของกระดูก หากมีข้อมูลว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนจึงทำการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยวิธีการวัดความสามารถในการดูดซับรังสีของกระดูกต่อหน่วยปริมาตรของกระดูก กระดูกที่มีผลึกเกลือแคลเซี่ยมมากและหนาแน่นสามารถดูดซับรังสีได้มากกว่ากระดูดที่มีผลึกเกลือแคลเซี่ยมน้อย การวัดความสามารถดูดซับรังสีนี้จึงเป็นเพียงวัดองค์ประกอบหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความแข็งแรงของกระดูดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการวัดคุณภาพหรือความแข็งแรงสุทธิของกระดูก ในผู้ที่รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยวิธีอื่นเช่น การวัดความหนาแน่นของกระดูกที่เท้าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงไม่มีความสำคัญทางคลินิก ปัจจุบันแพทย์ไม่ใช้วิธีการนี้ประเมินความแข็งแรงของกระดูกแล้ว

 

 

  ค่าความหนาแน่นของกระดูกที่ได้จากการวัดความสามารถในการดูดซับรังสีของกระดูกนำเสนอในค่าสัดส่วนเมื่อเทียบกับค่ากลางของคนปกติที่อยู่ในวัยต่างๆกัน โดยเทียบกับคนหนุ่มสาว ที่มีความหนาแน่นของกระดูกปกติ แปลผลออกมาเป็นค่าคะแนนที (T) ในผู้ที่ความหนาแน่นของกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ คะแนนทีอยู่ที่ 0 หากความหนาแน่นของกระดูกสูงกว่าเกณฑ์ปกติ คะแนนทีมีค่าเป็นบวก ในทางตรงข้ามหากความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติหรือเป็นโรคกระดูกพรุน คะแนนทีมีค่าเป็นลบ ตามข้อตกลงการวินิจฉับโรคกระดูกพรุนและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านกระทำลายกระดูกในปัจจุบัน ถือค่าคะแนนทีที่ -2.5 เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ หากการตรวจความหนาแน่นด้วยวิธีนี้พบว่าคะแนนทีต่ำกว่า -2.5 จึงจะถือว่าผู้ป่วยมีกระดูกพรุนและกระดูกบางมาก มีโอกาสกระดูกหักได้ง่ายแม้การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้สมควรได้รับการรักษาด้วยยาที่ลดการทำลายกระดูกหรือยาที่กระตุ้นการสร้างกระดูกเพื่อป้องกันกระดูกหัก ซึ่งต้องให้การรักษาร่วมกับการรักษาโรคกระดูกพรุนทั่วไปอันได้แก่การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การดื่มนมและการได้รับแคลเวี่ยมเพิ่มอย่างเหมาะสม การออกกำลังกาย การใช้เครื่องช่วยการเดินและเครื่องรัดดัดและพยุงต่างๆ การปรับการใช้ชีวิตประจำวันและสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสม โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อป้องกันกระดูกหัก การวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยดูจากความสามารถในการดูดซับรังสีนี้ควรทำต่อเมื่อมีอายุสูงวัย โดยมีอายุสูงกว่า 65 ปี ยกเว้นเป็นผู้ที่มีอาการ อาการแสดงและการตรวจอย่างอื่นส่อว่าผู้ป่วยน่าจะมีกระดูกพรุน และผู้ป่วยเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อกระดูกหักพรุนและกระดูกหัก เช่น ผู้ป่วยหญิงที่ต้องได้รับการผ่าตัดนำมดลูกและรังไข่ออกตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี ผู้ที่มีประวัติมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักง่าย ผู้ป่วยที่มีการมองเห็นไม่ดี มีโอกาสหกล้มบ่อยและผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น จึงสมควรได้รับการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกเมื่อมีอายุน้อยกว่า 65 ปี

 

 

มีท่านผู้มีเกียรติ์บางท่านถามว่าหากสงสัยกระดูกพรุนก็รับประทานยาต้านการทำลายกระดูกไปเลยดีไหม คำตอบคือไม่ดี ด้วยยาต้านการทำลายกระดูกเป็นยาที่มีราคาสูงและมีฤทธิ์แทรกซ้อนสูงด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและปวดท้อง ยาในกลุ่มฮอร์โมนเพศก็อาจก่อนให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอดและโรคหลอดเลือดอุดตัน รวมทั้งหากได้รับฮอร์โมนติดต่อเป็นเวลานาน ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ยาต้านการทำลายกระดูกที่มีฤทธิ์แรงอาจรบกวนการปรับตัวของกระดูกตามธรรมชาติ กระดูกอาจแข็งแต่เปราะ กระดูกกลับหักง่ายกว่าที่ควร ดังนั้นการใช้ยาต้านการทำลายกระดูกจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

 

 โดยสรุปการวัดความหนาแน่นของกระดูกนี้เป็นเพียงการวัดองค์ประกอบหนึ่งที่ให้ความแข็งแรงต่อกระดูกเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีค่าคะแนนทีของความหนาแน่นของกระดูกต่ำแล้วจะมีกระดูกอ่อนแอหักง่ายเสมอไป ต้องอาศัยปัจจัยอื่นจากการตรวจและพิจารณาของแพทย์ร่วมด้วย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย ดังนั้นการที่ท่านทั้งหลายที่อยู่ในวัยกลางคนไปรับการตรวจพบว่าความหนาแน่นของกระดูกของท่านลดลงหรือกระดูกของท่านบางลงจากวิธีอื่น โดยท่านไม่มีอาการผิดปกติจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องวิตกมากเกินไป หากมีความสงสัยควรปรึกษาแพทย์  

 

 

บทความ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ ไวคกุล

             (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ)

บทความแนะนำ

16/10/2567

ลมและแดดจ้า ทำลายดวงตากว่าที่คิด ระวัง!! ต้อลม

แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล... รู้สึกไม่สบายตา โดยเฉพาะเมื่อเจอลมแรงๆ หรือแสงแดดจ้า ตาแดงก่ำ คันยุบยิบ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางครั้งมีขี้ตาเยอะผิดปกต...

16/10/2567

ต้อหิน ไม่เข้าใจ ไม่ระวัง อาจมองไม่เห็นตลอดชีวิต

         "ต้อหิน" ภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำลายเส้นประสาทตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ท...

รายชื่อแพทย์ในศูนย์บริการนี้