การเตรียมตัวก่อนการตรวจสุขภาพ
พูดถึงเรื่องตรวจสุขภาพ หลายคนคงเคยตรวจมาแล้ว บางคนอาจตรวจกับที่ทำงาน หรือตรวจที่โรงพยาบาล แม้ว่าเรื่องการตรวจสุขภาพจะมีมานานแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่กล้า หรือไม่ทราบว่าทำไมต้องตรวจ ตรวจแล้วได้อะไร แล้วหากอยากจะไปตรวจจะต้องทำอย่างไร
“การตรวจสุขภาพ” แบ่งเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา โดยที่เรายังไม่มีอาการผิดปกติที่สังเกตได้เรียกได้ว่า “ภัยเงียบ” เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น ส่วนการค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยหากพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
มาดูกันดีกว่าว่า 6 เรื่องน่ารู้ ก่อนตรวจสุขภาพ จะมีอะไรบ้าง
1. การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโรคหลายชนิดที่เป็นภัยเงียบการตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากพบจะทำให้รักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้
2. การตรวจสุขภาพเด็กก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเน้นให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมทั้งมีการตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการว่าสมวัยหรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดปกติต่างๆ ที่สำคัญการตรวจสุขภาพตั้งแต่เด็กจะทำให้แพทย์ได้ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงแทรกซ้อนที่จะเกิดกับเด็ก และทำการรักษาได้ทันท่วงที
3. การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา หากตรวจเกินจำเป็นก็ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และการตรวจบางอย่างอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
4. “ตรวจสุขภาพประจำปี” เป็นคำที่เข้าใจผิด เพราะการตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่เป็นการตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
5. ประชาชนมักเข้าใจผิดว่าการตรวจสุขภาพ คือ การค้นหาโรคโดยการตรวจห้องแล็บ และมุ่งเน้นการรักษาจากหมอจนละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งแท้จริงการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องให้ความสำคัญกับการซักประวัติเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เมื่อรู้ปัจจัยเสี่ยง ขั้นตอนต่อไปคือการให้แพทย์ตรวจร่างกาย โดยจะตรวจแล็บเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องตรวจเลยก็ได้
6. เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ โดยวัดในแนวสะดือ นำค่าที่ได้ไปหารด้วยส่วนสูง ซึ่งคนปกติจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง ถ้าเกินแสดงว่าลงพุงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน
วิธีการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ
1.ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย อาจทำให้แพทย์ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่
2.งดอาหารและเครื่องดื่ม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากยาและแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนตรวจ
3.หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
4.สำหรับสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ
จะเห็นได้ว่าการตรวจสุขภาพมีความสำคัญ และมิได้ทำให้เราเสียเวลาอย่างที่เข้าใจ ในทางตรงกันข้ามกลับมาช่วยรักษาเวลาของเราอีกด้วย เพราะการพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกการรักษาให้หายก็สามารถทำได้ และจะไม่มีคำว่า "สายเกินแก้"
ข้อมูล : จากหนังสือ ตั้งหลักก่อนตรวจ 20 ถามตอบเรื่องสุขภาพ โดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล... รู้สึกไม่สบายตา โดยเฉพาะเมื่อเจอลมแรงๆ หรือแสงแดดจ้า ตาแดงก่ำ คันยุบยิบ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางครั้งมีขี้ตาเยอะผิดปกต...
"ต้อหิน" ภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำลายเส้นประสาทตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ท...