บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) “บริษัทฯ” มุ่งมั่นในการดําเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม และตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มีการดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย และสามารถตรวจสอบได้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมเป็น “แนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ บริษัทฯ จึงได้กําหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และแนวทางสำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยสร้างให้เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
2.2 เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบของบริษัทฯและบริษัทย่อย โดยบริษัทฯ ได้มีการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นกับทุกๆ กิจกรรมของบริษัท
2.3 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
2.4 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการทางธุรกิจและพัฒนาสู่องค์กรด้วยความยั่งยืน
3. ขอบเขต
นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยในการ
ต่อต้านคอร์รัปชั่น บังคับใช้กับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย โดยบริษัทฯ มีความคาดหวังว่า ลูกค้า คู่ค้า เครือข่ายบริการ คู่ความร่วมมือ พันธมิตร หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกันทางธุรกิจ จะร่วมถือปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด หรือร่วมสนับสนุนบริษัทฯ ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
4. คำนิยามตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอการให้คำมั่นสัญญา การยอมรับ การชักจูงสู่การกระทำที่ผิดกฏหมาย มอบให้คำมั่นเรียกร้อง หรือรับ ซึ่ง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือ แนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายระเบียบ ประกาศข้อบังคับ หรือ ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้
บริษัทฯ หมายถึง บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
บุคลากร หมายถึง คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เครือข่ายบริการ คู่ความร่วมมือ พันธมิตร คู่แข่งขันทางการค้า เจ้าหนี้ พนักงาน สังคม ชุมชน หน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
สินบน หมายถึง สิ่งจูงใจ ค่าตอบแทน รางวัล หรือผลประโยชน์ที่เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือที่ได้มอบให้กับบุคคลใดๆ จูงใจให้บุคคลนั้นๆ กระทำการหรือตัดสินใจใดๆ ที่จะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์
ของขวัญ หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่กันด้วยอัธยาศัยไมตรี หรือให้เป็นสินน้ำใจ
การเลี้ยงรับรองและบริการต้อนรับ หมายถึง การเลี้ยงอาหาร กิจกรรมสันทนาการ ต่างๆ
ค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง การให้เงินสด หรือสิ่งของแทนเงินสด เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วขึ้น
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตนอันก่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของ บริษัทฯ ซึ่งการกระทำนั้นอาจเกิดขึ้นอย่างรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ส่งผลให้บุคคลนั้นขาดการตัดสินใจที่เที่ยงธรรม
การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้การสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองทั้งที่เป็นตัวเงิน มิใช่ตัวเงิน หรือผลประโยชน์ใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การสนับสนุนที่มิใช่ตัวเงินจะรวมถึงการให้ยืมบริจาคอุปกรณ์ การให้บริการด้านเทคโนโลยีโดยไม่คิดค่าบริการ รวมทั้งการโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง และ/หรือการส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามบริษัท
การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การให้เงินหรือสิ่งของในรูปแบบใดๆ แก่บุคคล องค์กรของรัฐ องค์กรเอกชน องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อการกุศล หรือการบรรเทาทุกข์ หรือการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมหรือการสนับสนุนการช่วยเหลือพัฒนาทางสังคม โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน หรือผลประโยชน์จากองค์กรที่เข้าไปให้การสนับสนุน
เงินสนับสนุน (Sponsorships) หมายถึง เงินที่จ่ายให้หรือได้รับจากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจ สังคม ชุมชนอย่างสมเหตุสมผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และเหมาะสมแก่โอกาส
พนักงานรัฐ หมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงาน
ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปกติประเพณีนิยม หมายถึง เทศกาลหรือวันสำคัญ ซึ่งอาจมีการให้ของขวัญกัน และให้หมายความ
รวมถึงโอกาสในการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือ
การให้ความช่วยเหลือตามมารยาทที่ถือปฏิบัติในสังคมโดยทั่วไป
5. นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ขอประกาศว่า กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย จะไม่กระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรง หรือทางอ้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรและการดำเนินธุรกิจขององค์กร ไม่ว่าตนจะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับ ผู้ให้ หรือผู้เสนอให้สินบน ทั้งที่เป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงิน แก่หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ที่บริษัทได้ดำเนินธุรกิจ หรือติดต่อด้วย โดยจะปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด และกำหนดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการทบทวนแนวทางการปฏิบัติ ข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนกระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชั่น จะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบของบริษัทฯ
6. หน้าที่และความรับผิดชอบ
6.1 คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดและอนุมัตินโยบายที่สนับสนุนการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความ สำคัญกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร และเพื่อให้ทุกคนในกลุ่มบริษัท ได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น
6.2 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและนโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมถึงให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย สื่อสารกับบุคลากรในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้ทราบถึงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ รวมถึงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
6.3 คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับดูแลการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการดำเนินการ ของกระบวนการทางบัญชีและการเก็บบันทึกข้อมูล รวมถึงกระบวนการอื่นๆในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น จัดให้มีช่องทางในการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำอันอาจนำสู่การคอร์รัปชั่น การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ
6.4 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่และรับผิดชอบในการประเมินความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของ องค์กร รวมถึงให้ข้อเสนอแนะวิธีการควบคุมหรือแนวทางป้องกันความเสี่ยงนั้นๆ พร้อมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแผนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดระดับความเสี่ยงลงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ
6.5 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีหน้าที่และรับผิดชอบในการนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ โดยกำหนดให้มีระบบงาน และให้การส่งเสริม รวมถึงสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย บังคับใช้และควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย และแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบงานและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
6.6 ฝ่ายตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ กฎหมาย และข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้มอบหมาย ในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร นอกเหนือจากแผนการตรวจสอบภายในที่ได้กำหนดไว้
6.7 แผนกทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น การให้คำปรึกษา แนะนำ หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จนเกิดการปฏิบัติที่เป็นวัฒนธรรมขององค์กร ทั้งภายในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียภายนอก
6.8 กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่และรับผิดชอบจะต้องปฎิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ กรณีมีข้อสงสัยหรือพบเห็นการฝ่าฝืนนโยบายดังกล่าว จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ กรณีที่พบประเด็นที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ อย่างร้ายแรง ต้องรายงานโดยเร่งด่วนต่อผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัทโดยตรง (กรณีจำเป็น เร่งด่วน)
6.9 ในประกาศฉบับนี้ การแจ้งเหตุหรือการรายงานตามลำดับการบังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชา ให้ยึดถือลำดับชั้นการบังคับบัญชาตามแผนผังโครงสร้างองค์กรของบริษัท กรณีกรรมการ ให้แจ้งแก่ ประธานกรรมการ และกรณีประธานกรรมการ ให้แจ้งแก่คณะกรรมการบริษัทฯ ตามลำดับ
7. แนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
7.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
7.2 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ต้องไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ รวมทั้งต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา
7.3 บริษัทฯ จะสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญและมีจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งจัดให้มีการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น การให้ หรือรับสินบน ในทุกรูปแบบ
7.4 บริษัทจะเผยแพร่ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
7.5 บริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายทางการเงิน การกำหนดงบประมาณ และการประเมินผลงบประมาณที่โปร่งใสและชัดเจน
7.6 บริษัทจัดให้มีระเบียบการจ่ายเงินโดยมีการกำหนดอำนาจอนุมัติ และวงเงินในการอนุมัติ ซึ่งการเบิกจ่ายและการจ่ายเงินที่นอกเหนือจากการประกอบธุรกิจปกติของบริษัท ต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนประกอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม รวมถึงไม่ก่อให้เกิดการช่วยเหลือทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และเพื่อให้มั่นใจว่าการเบิกจ่ายเพื่อการบริจาคเพื่อการกุศลใดๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการคอร์รัปชั่น และการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อธุรกิจไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการคอร์รัปชั่น
7.7 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่พึงรับหรือให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท หากได้รับของขวัญที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัยในโอกาสตามประเพณีนิยม ให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานควรปฏิเสธหรือไม่รับของขวัญดังกล่าว และต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบทันที
7.8 บริษัทต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันคอร์รัปชั่น โดยกระบวนการดังกล่าวครอบคลุมด้านงานขาย การตลาด การจัดซื้อ การทำสัญญา การบริหารทรัพยากรบุคคล การบัญชีและการเงิน การเก็บบันทึกข้อมูล การปฏิบัติงาน รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ภายในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยต้องมีการดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการตรวจสอบจากฝ่ายกำกับและตรวจสอบภายในดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
7.9 นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคคลากร การให้ผลตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่ง การอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน
7.10 บริษัทต้องจัดให้มีมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น โดยระบุเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากการคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ การประเมินระดับความเสี่ยงทั้งด้านโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าของการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยงให้มีความเหมาะสมที่จะป้องกันความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ปีละ 1 ครั้ง
7.11 บริษัทต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดขึ้นช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบ
7.12 บริษัทต้องจัดให้มาตรการปฏิบัตินี้ได้รับการจัดทำเป็นเอกสารตามหลักการควบคุมภายในเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายและระเบียบของบริษัทฯ
7.13 พนักงานบริษัทฯ ต้องลงนามรับทราบนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อยืนยันว่าพนักงานทุกคนรับทราบ เข้าใจ และพร้อมจะนำหลักการในนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยความเคร่งครัดทั้งองค์กร
8. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเมือง
8.1 บริษัทฯ มีความเป็นกลางทางการเมือง จะไม่กระทำการอันเป็นการฝักใฝ่ หรือให้การช่วยเหลือทางการเมือง แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง หรือกลุ่มพลังทางการเมืองใดๆ ในทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค และทุกระดับ
8.2 กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างของกลุ่มบริษัทฯ มีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นการส่วนตัว ภายใต้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง แต่จะต้องไม่แอบอ้างความเป็นกรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือ พนักงานของบริษัท หรือนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ ทรัพยากรใดๆ ของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใดๆ ในทางการเมือง ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
8.3 ในกรณีที่บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนทางการเมืองเพื่อส่งเสริมระบบประชาธิปไตย การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือการกระทำไปด้วยความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนพิเศษ ทั้งนี้ในการสนับสนุนจะต้องทำใบบันทึกข้อความ ระบุชื่อผู้รับการสนับสนุนและวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนพร้อมแนบเอกสารประกอบทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ
9. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศล
การบริจาคเพื่อการกุศล ทั้งในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การให้ความรู้หรือการสละเวลา เป็นต้น สามารถกระทำได้โดยอาจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมตอบแทนสังคม ทั้งนี้จะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
การบริจาคเพื่อการกุศลอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตน และอาจจะใช้เป็นข้ออ้างหรือเส้นทางสำหรับการคอร์รัปชั่น และเพื่อไม่ให้การบริจาคเพื่อการกุศลมีวัตถุแอบแฝง ดังนั้น จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับรวมทั้งข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ บริษัท มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศล ดังนี้
9.1 การบริจาคนั้น จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฏหมาย และ ไม่ขัดต่อศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการกระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม รวมถึงต้องไม่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด และการบริจาคดังกล่าว บริษัทฯ จะไม่กระทำเพื่อใช้เป็นข้ออ้างหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นเพื่อกระทำการคอร์รัปชั่น
9.2 รูปแบบของการบริจาค อาจให้เป็นตัวเงิน เช่น การบริจาคเงินเพื่อบรรเทาสาธารณภัย หรือการบริจาคสิ่งของ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การบริจาคอุปกรณ์การเรียนให้แก่โรงเรียนเพื่อเป็นการสงเคราะห์การศึกษา เป็นต้น
9.3 การบริจาคนั้น จะต้องมีหลักฐานแสดงว่าได้กระทำไปเพื่อสนับสนุนให้โครงการเพื่อการกุศล หรือ การสาธารณประโยชน์ ดังกล่าว ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยสามารถแสดงได้ว่ามีโครงการเพื่อการกุศลหรือการสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
9.4 การบริจาคนั้น จะต้องจัดทำใบบันทึกข้อความ ระบุชื่อผู้รับบริจาคและวัตถุประสงค์ของการบริจาค พร้อมแนบเอกสารประกอบเสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติตามระเบียบอำนาจดำเนินการ
10. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับเงินสนับสนุน
เงินสนับสนุนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท อาจกระทำได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท ทั้งนี้ อาจมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสำหรับการบริการหรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและติดตาม ดังนั้น จะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
เงินสนับสนุนอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตน และอาจจะใช้เป็นข้ออ้างหรือเส้นทางสำหรับการคอร์รัปชั่น และเพื่อไม่ให้การให้เงินสนับสนุนมีวัตถุแอบแฝง ดังนั้น จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าการให้เงินสนับสนุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับรวมทั้งข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ บริษัท มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเงินสนับสนุน ดังนี้
10.1 การให้เงินสนับสนุนนั้นต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฏหมาย และ ไม่ขัดต่อศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการกระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม และสามารถพิสูจน์ได้ว่าการให้เงินสนับสนุน ไม่เป็นการให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด และการให้เงินสนับสนุนดังกล่าว บริษัทฯ จะไม่กระทำเพื่อใช้เป็นข้ออ้างหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นเพื่อกระทำการคอร์รัปชั่น
10.2 รูปแบบของเงินสนับสนุนนั้น อาจเป็นตัวเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ เช่น ค่าที่พักและอาหาร วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
10.3 การให้เงินสนับสนุนนั้น ต้องมีหลักฐานที่แสดงได้ว่าผู้ขอเงินสนับสนุน ได้นำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปใช้เพื่อทำกิจกรรมตามโครงการที่ได้ขอเงินสนับสนุนดังกล่าวจริง เพื่อให้วัตถุประสงค์ของโครงการประสบผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
10.4 ในการเป็นผู้ให้เงินสนับสนุน จะต้องจัดทำใบบันทึกข้อความ ระบุชื่อผู้รับเงินสนับสนุนและวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนพร้อมแนบเอกสารประกอบตามสมควร เสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติตามระเบียบอำนาจดำเนินการ ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ
11. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
การดำเนินการเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่เหมาะสม อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น และเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต โดยการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทเพื่อเป็นการติดสินบน นอกจากนี้ การที่บริษัทให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมกับลูกค้า อาจเป็นการปฏิบัติที่ผิดนโยบายของลูกค้าหรือคู่ค้าบางราย และเป็นเหตุให้บริษัทต้องเสียโอกาสทางธุรกิจไป
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจในอันที่จะนำมา ซึ่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัท และในขณะเดียวกันเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนี้
11.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ สามารถรับหรือให้ของขวัญ การบริการต้อนรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเลี้ยงรับรอง หรือรับการเลี้ยงรับรองจากบุคคลอื่น เป็นต้น ได้ในโอกาสต่างๆ ตามธรรมเนียมประเพณี หรือตามมารยาทสังคมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป โดยจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และไม่เป็นการปิดบังซ่อนเร้น โดยการรับหรือการให้ดังกล่าวนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบใดๆ ผ่านการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝง เพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ตอบแทน หรือทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ และจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการให้ของขวัญของบริษัทฯ นั้น จะต้องให้ในนามบริษัทไม่ใช่ในนามส่วนตัว โดยอาจจัดทำเป็นของขวัญที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัท หรือติดนามบัตรที่มีตราของบริษัท ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การให้ของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ เป็นต้น โดยจะต้องไม่อยู่ในรูปเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่าเงินสด เช่น เช็ค บัตรของขวัญ หรือบัตรกำนัล เป็นต้น ยกเว้นเป็นการให้ในรูปของการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ไว้ชัดเจน และปฏิบัติในแนวทางเดียวกันกับทุกคน
11.2 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทจะต้องไม่เรียกร้องหรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก หรือค่าใช้จ่ายอื่นจากลูกค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทไม่ว่ากรณีใดอันจะทำให้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง หรือลำบากใจ หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
11.3 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัท ต้องไม่รับของขวัญหรือค่าตอบแทนใดๆ ที่เกินสมควรอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เช่น ในการประกวดราคา จะต้องไม่รับของขวัญ หรือค่าบริการต้อนรับจากบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคาหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นต้น
11.4 การให้และรับผลประโยชน์อื่น เช่น การเลี้ยงสังสรรค์รับรอง จะต้องมั่นใจได้ว่าการรับรองนั้น มิได้มีลักษณะเป็นการใช้จ่ายเงินมากเกินสมควรหรือกระทำบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดข้อผูกมัดกับผู้ที่จัดการสังสรรค์รับรองนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
11.5 การเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ ควรจัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการทำความรู้จัก ควรมีความเหมาะสมในแต่ละโอกาส สำหรับการบริการต้อนรับ สามารถจัดให้มีการเลี้ยงรับรองตามความเหมาะสมและโอกาส
11.6 บริษัทฯ จะประชาสัมพันธ์ให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทฯ ทราบถึงแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัทผ่านการประชุมประจำปีและผ่านระบบการสื่อสารอื่นๆที่บริษัทมีอยู่
11.7 บริษัทฯ จะประชาสัมพันธ์หรือแจ้งให้ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัททราบ ถึงนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การอำนวยความสะดวกและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัทผ่านเอกสารแนะนำบริษัท
12. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์
การกระทำไม่ว่าจะเป็นพนักงานของบริษัทฯ ผู้บริหาร หรือกรรมการบริษัทฯ มีประโยชน์ส่วนตัวมากจนมีผลต่อการตัดสินใจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ที่บุคคลนั้นรับผิดชอบ และส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของส่วนรวม กล่าวคือ การตัดสินใจหรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตนอันก่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตนเองหรือพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของบริษัทฯ บริษัทจึงมีแนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนี้
12.1 กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ ไม่มาแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการส่วนตน หรือพวกพ้อง กับบริษัทฯ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ไม่นำสารสนเทศหรือข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะหรือที่เป็นความลับไปใช้หรือนำไปเปิดเผยกับบุคคลภายนอก
12.2 หลีกเลี่ยงการทำรายการระหว่างกันหรือรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลผระโยชน์กับบริษัทฯ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ คือ การทำให้บริษัทเสียประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควร หรือเป็นการ
แบ่งประโยชน์จากบริษัทฯ เป็นของตน หรือพวกพ้อง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการแข่งขันกับ
กิจการของบริษัทฯ ยกเว้นเป็นรายการที่เป็นไปเพื่อสนับสนุนการให้บริการรักษาพยาบาลและ/หรือเป็นรายการที่มีความสมเหตุสมผล
12.3 คณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ และบริษัทย่อยทุกแห่ง มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการทำรายการเกี่ยวโยงและความขัดแย้งทางผลประโยช
12.4 กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยทุกแห่ง มีหน้าที่แจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำผิดของเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชา หรือผู้บริหาร หรือกรรมการ หากเพิกเฉย ไม่ดำเนินการแจ้งเบาะแส ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดตามที่กำหนดไว้ใน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของบริษัท
13. แนวทางปฏิบัติในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
13.1 บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เกี่ยวกับการบริหารบุคลากร และจะพิจารณาอย่างรอบคอบในการพิจารณาคัดเลือก การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการให้ผลตอบแทน ตลอดจนการให้รางวัลต่างๆ ต่อพนักงาน ซึ่งบริษัทจะได้คำนึงถึงการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด
13.2 บริษัทฯ มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลให้เป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ ขั้นตอนการฝึกอบรม ขั้นตอนการสรรหาพนักงาน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติงาน สวัสดิการพนักงาน รวมถึงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทฯ ไม่มีนโยบายในการเรียกรับ หรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้สมัคร พนักงาน หรือผู้เกี่ยวข้องกับการสมัครงาน ทั้งในช่วงการสมัครงาน และช่วงประเมินผลทดลองงาน เพื่อให้มีการบรรจุเป็นพนักงานประจำ
13.3 ด้านการจ้างงาน บริษัทฯ ได้กำหนดประเภทและคุณสมบัติของพนักงานในการรับเข้าทำงาน โดยผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดจะต้องไม่เคยมีประวัติการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้
อนึ่ง กรณีการจ้างงานในตำแหน่งงานที่ว่าง ซึ่งบุคคลนั้นเคยเป็นพนักงานของรัฐมาก่อน ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานสรรหาพนักงานตามระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ ทุกประการ
13.4บริษัทมีการให้ความรู้แก่คณะกรรมการ ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอรรัปชั่น โดยมีการบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งในการปฐมนิเทศพนักงาน ทั้งนี้บริษัทฯ จะแจ้งให้พนักงานทราบถึงมาตรการต่างๆ ที่พนักงานต้องปฏิบัติตามพร้อมบทลงโทษ ถ้ามีการฝ่าฝืน
14. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับงานบัญชีการเงิน
14.1 การรับ-จ่ายเงิน บริษัทฯ มีข้อปฏิบัติในการรับจ่ายเงิน ดังนี้
14.1.1 การรับเงินจากลูกค้า นิติบุคคล หรือบุคคลอื่นใด
14.1.2 การจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ นิติบุคคล หรือบุคคลอืน
ไม่เรียกหรือรับ ไม่เสนอหรือให้ ผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด กับเจ้าหนี้หรือผู้รับเงินในอันที่จะทำให้บริษัทเกิดความเสียหายจากการชำระเงินหรือชำระล่าช้าหรือชำระไม่เต็มจำนวน
14.2 การจัดทำและนำเสนอรายงานทางการเงิน มีข้อปฏิบัติ ดังนี้
14.2.1 การจัดทำรายงานทางการเงิน
14.2.2 การนำเสนอรายงานทางการเงิน
15. การนำมาตรการไปปฏิบัติโดยบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
15.1 บริษัทจะแจ้งและสนับสนุนให้บริษัทย่อย รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม (ถ้ามี) นำมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ
15.2 ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร หรือ พนักงานของบริษัทฯ จ้างตัวแทนหรือตัวกลางทางธุรกิจใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำการคอร์รัปชั่น
15.3 บริษัทจะจัดให้มีการจัดซื้อสินค้าและบริการด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส รวมทั้งจะดำเนินการประเมินเพื่อคัดเลือกผู้ขาย ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับเหมาตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับเหมารับทราบนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฉบับนี้
15.4 บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกการจัดซื้อและว่าจ้าง หากพบว่าผู้ขาย ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับเหมากระทำการคอร์รัปชั่นหรือให้สินบน
16. ช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด หรือ ข้อร้องเรียน (Whistle-Blowing Service)
บริษัทฯ สนับสนุนให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย ช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบการกระทำใดๆ ที่ผิดหลักธรรมาภิบาล ผิดจรรยาบรรณ ผิดกฎระเบียบและข้อบังคับของบริษัทฯ ผิดกฎหมาย การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ ให้พนักงานหรือผู้มีส่วนได้เสียแจ้งเบาะแสการกระทำผิดโดยส่งเรื่องพร้อมเอกสารหรือหลักฐาน ระบุชื่อ-นามสกุลของผู้แจ้ง (หากมิได้ระบุชื่อนามสกุล เรื่องดังกล่าวอาจไม่ได้รับการพิจารณา) เพื่อความสะดวกในการติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ให้กับประธานกรรมการตรวจสอบ โดยส่งด้วยตนเอง อี-เมล์ หรือส่งไปรษณีย์
เรียน ประธานกรรมการตรวจสอบ หรือ กรรมการอิสระ
บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 74/5 หมู่ที่ 4 ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อยอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 74130
โทรศัพท์ 02 441 7899 ต่อ 4526 E-mail : montriwat@hotmail.com
ขั้นตอนการพิจารณา เมื่อประธานกรรมการตรวจสอบ หรือ กรรมการอิสระได้รับข้อร้องเรียน ให้พิจารณาเบื้องต้นว่ามีมูลกระทำความผิดหรือไม่ หากพบว่ามีมูลให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาขั้นต้นให้ผู้แจ้งทราบภายใน 14 วันนับแต่วันรับเรื่อง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
17. มาตรการความคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน หรือผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิด
17.1 บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงาน หรือบุคคลอื่นใดที่แจ้งเบาะแสหรือหลักฐานเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ และบริษัทย่อย รวมถึงพนักงานที่ปฏิเสธ ต่อการกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบ และบริษัทฯ จะดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการรับเรื่องร้องเรียน และการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด
17.2 บุคคลใดๆ ที่ได้รับทราบเรื่องร้องเรียน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน จะต้องปกป้องข้อมูลเรื่องร้องเรียน หรือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน ให้เป็นความลับ และไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นในขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบ หรือตามที่กฎหมายกำหนด หากมีการจงใจฝ่าฝืนนำข้อมูลออกไปเปิดเผย บริษัทฯ จะดำเนินการลงโทษทางวินัย และ/หรือดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน แล้วแต่กรณี
17.3 กรณีที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน เพียงพอ ว่าผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนมีพฤติกรรมที่แจ้งหรือกล่าวหาผู้ถูกร้องเรียนโดยไม่สุจริต บริษัทฯ จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้ถูกร้องเรียน ดังนี้
17.3.1 ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเป็นพนักงานของบริษัทฯ ให้ดำเนินการสอบสวน เพื่อพิจารณาลงโทษตามระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคล
17.3.2 ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเป็นบุคคลภายนอก และบริษัทฯ ได้รับความเสียหาย บริษัทฯ อาจพิจารณาดำเนินคดีกับผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน
18. การสื่อสาร
บริษัทฯ สื่อสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้พนักงาน ผู้บริหาร บริษัทย่อย ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ได้รับทราบ โดยผ่านการประชุมของฝ่ายบริหาร การแจ้งผ่านบอร์ดประชาสัมพันธ์ Website รายงานประจำปี หรือวิธีการอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น การปฐมนิเทศ การจัดอบรม การมีหนังสือแจ้งเตือนในโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสม
19. การเปิดเผยข้อมูล
บริษัท มีการเปิดเผยข้อมูลแก่พนักงาน ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มและผู้เกี่ยวข้อง ผ่านรายงานประจำปี (One Report), Website ของบริษัท หรือวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อให้มันใจว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกช่องทาง
20. การบันทึกและเก็บรักษาข้อมูล
20.1 บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ข้อมูลภายในบริษัท ณ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน บริษัทฯ มีการจัดทำนโยบายการป้องกันการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน เพื่อปฏิบัติตามหลักการ พระราชบัญญัติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลภายในทางบัญชีและการเงิน
20.2 บริษัทฯ มีนโยบายที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน หลักการ รวมทั้งกฎหมายที่บังคับใช้เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลทางบัญชีและการเงิน
20.3 ค่าใช้จ่ายทุกประเภทจะต้องมีเอกสารประกอบ รวมทั้งการจัดเก็บรักษาข้อมูลของบริษัทฯ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
20.4 บริษัทฯ ไม่อนุญาตให้มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นเท็จ ผิดหลักการ ไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้อง หรือทำการตกแต่งบัญชี รวมทั้งจะต้องไม่มีบัญชีนอกงบการเงินเพื่อใช้สนับสนุนหรือปกปิดการจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม
21. กระบวนการตรวจสอบ และการควบคุมภายใน
21.1 บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายใน เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพรวมถึงเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของทางการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านการคอร์รัปชั่น จึงมีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่า ระบบการควบคุมภายในที่มีอยู่สามารถช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ได้
21.2 บริษัทฯ กำหนดให้ฝ่ายกำกับและตรวจสอบจัดทำแผนงานการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยแผนการตรวจสอบจะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะมีการพิจารณาแผนงานตามความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น
21.3 บริษัทฯ จะรักษาระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิผลเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งครอบคลุมถึงการถ่วงดุลและการตรวจสอบระหว่างกันด้านบัญชีและการเงิน การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงกระบวนการทางธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง
21.4 บริษัทฯ กำหนดขั้นตอนการรายงานผลการตรวจสอบ และการรายงานประเด็นเร่งด่วนต่างๆ ดังนี้
21.4.1 ฝ่ายตรวจสอบจะต้องรายงานผลการตรวจสอบและประเด็นที่พบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง
21.4.2 หลังจากรายงานผลการตรวจสอบ จะต้องหารือผลการควบคุมภายใน เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมภายในที่เหมาะสม
21.4.3 หากพบว่ามีประเด็นเร่งด่วน ฝ่ายตรวจสอบจะแจ้งตรงไปยังประธานกรรมการตรวจสอบ ทันที
21.4.4 คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้ทำหน้าที่รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป
22. แนวทางการเปิดเผยและสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
เพื่อให้พนักงานในกลุ่มบริษัท บุคคลภายนอกรวมถึงคู่ค้าและลูกค้าทราบและตระหนักในนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัทฯจะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
22.1 บริษัทฯ จะประกาศให้พนักงานทุกคนได้รับทราบ โดยจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง Intranet ของบริษัทฯ รวมถึงการจัดทำแผ่นพับ หรือประกาศเพื่อแจกจ่ายทั่วไป และการจัดทำสื่อต่างๆ ที่แสดงถึงแนวนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้ทุกฝ่าย/แผนกได้รับทราบโดยทั่วกัน
22.2 บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของกลุ่มบริษัทจะได้รับการอบรม หรือรับทราบเกี่ยวกับนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชั่น ความเสี่ยงจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึง วิธีการรายงานในกรณีพบเห็น หรือสงสัยว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ซึ่งการอบรมให้ความรู้จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ด้วยและมีการทบทวนทุกปีผ่านระบบอินทราเน็ต รวมถึงบรรจุนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในคู่มือพนักงานด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำนโยบายไปปฏิบัติและบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนนโยบาย
22.3 เพื่อให้ผู้ถือหุ้น บุคคลภายนอกหรือผู้ที่สนใจทราบถึงนโยบาย บริษัทฯ จะนำนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เผยแพร่ให้ได้รับทราบ ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
22.3.1 เว็บไซต์บริษัทฯ http://www.vichaivej.com
22.3.2 รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปีในแบบ 56-1 One Report
22.4 จัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในสัญญาธุรกิจระหว่างบริษัทกับคู่สัญญาหรือลูกค้า เพื่อเป็นการแจ้งให้ลูกค้าทราบตั้งแต่วันที่เริ่มทำธุรกิจระหว่างกัน
22.5 จัดทำจดหมายหรือเอกสารแจ้งให้ลูกค้าและคู่ค้าทุกรายทราบเพื่อสื่อสารนโยบายในเรื่องการรับ/มอบของขวัญ ของแจก การเลี้ยงรับรองลูกค้า การให้การรับรองคู่ค้า การรับ/ มอบสิ่งตอบแทน เป็นต้น โดยกระทำ ในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือโอกาสทางธุรกิจ
23. กระบวนการลงโทษ
บริษัทฯ จะดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีบทลงโทษทางวินัยจนถึงขั้นให้ออกจากงาน และ/หรือ พ้นจากการเป็นพนักงาน การไม่ได้รับรู้ถึงนโยบายนี้ และ/หรือ กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ได้
24. การติดตาม/ทบทวนความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น
บริษัทฯ กำหนดให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงติดตามและประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และให้มีการทบทวนมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างครอบคลุม
25. การทบทวนนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
เพื่อเป็นการวัดประสิทธิผล และพัฒนานโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีความสอดคล้องกับความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนไป บริษัทฯ กำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการมีหน้าที่ในการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยพิจารณาจากสถานการณ์ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี รายงานจากฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือข้อร้องเรียนต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอก ฯลฯ และนำเสนอข้อปรับปรุงต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ
อนึ่ง หากมีประกาศเรื่อง นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ ให้ยกเลิกและให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
ทั้งนี้ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ XX XXXXX 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ XX XXXXX 2564
(รศ. ดร. นพ.วิชัย วนดุรงค์วรรณ)
ประธานกรรมการ
บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
ดาวโหลด
1. นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น (ฉบับลงนาม)
2. จดหมายขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
3. แผ่นพับนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น